ส้มโอแสงวิมาน http://sangwiman.siam2web.com/

ส้มโอทับทิมสยาม

ความเป็นมา

            ส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ทุกคนรู้จักกันดี เนื่องจากสามารถปลูกได้ทุกๆภาคของประเทศไทย และเป็นไม้ผลที่มีรสชาติที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้ผลผลิตและตอบแทนสูง ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตของส้มโอจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมกราคาของทุกๆปี สามารถเก็บไว้ได้นานเพราะมีเปลือกหนา เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อการบริโภคหรือเพื่อการค้าได้ แต่ส่วนมากนิยมปลูกเพื่อการค้าเพราะได้ราคาดี และสามารถซื้อไปเป็นของฝากได้เช่นกัน ประโยชน์ของส้มโอนอกจากจะบริโภคเนื้อแล้ว เปลือกของส้มโอยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเปลือกส้มโอเชื่อม และเปลือกส้มโอแช่อิ่มได้อีกด้วย

หมู่บ้านแสงวิมาน หมู่ที่ 13 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านแรกของอำเภอปากพนังที่มีการปลูกส้มโอเต็มพื้นที่ โดยนำพันธุ์มาจากอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยสภาพพื้นที่ของบ้านแสงวิมาน เป็นที่ราบลุ่มป่าชายเลน มีน้ำขัง ส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช หากใครต้องการทำสวนผลไม้ จะต้องไปหาที่แถวอำเภอลานสกา หรืออำเภอพรหมคีรี ซึ่งเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง แต่ด้วยภูมิปัญญาและความมานะพยายาม จนทำให้พื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้ นอกจากการทำนา กลายมาเป็นแหล่งผลิตส้มโอที่มีคุณภาพและชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช

            บ้านแสงวิมานเป็นชื่อของสองตระกูล คือ ตระกูลของนายแสงกับนายมาน     ซึ่งเป็นบุคคลที่ริเริ่มการเข้ามาก่อสร้างหมู่บ้าน โดยเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ 2481  หรือประมาณ 67 ปี ที่ผ่านมา คนกลุ่มแรกที่เข้ามาก่อตั้งคือ นายแสง และ นายมาน และเครือญาติอีกประมาณ 20 ครัวเรือน โดยอพยพมาจากปากลัด (อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) และจังหวัดนนทบุรี  ในช่วงแรกมีการทำนาข้าว แต่รายได้ไม่พอจ่าย ประกอบกับพื้นฐานเดิมมีการทำสวนมาก่อน จึงมีการขุดยกร่อง เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ และเป็นต้นแบบของการทำสวนแบบยกร่อง หลังจากนั้นเป็นต้นมา ในช่วงที่มีการขุดร่องใหม่มีการปลูกพืชล้มลุก มีการทดลองปลูกไม้ผลหลายชนิด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูมรสุม และบางปีน้ำเค็มทะลักคันกั้นน้ำ เข้าไปทำลายสวนทั้งพืชผักและไม้ผล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 มีการนำกิ่งพันธ์ส้มโอมาทดลองปลูก ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากส้มโอเป็นพืชที่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง  น้ำเค็ม  ประกอบกับพื้นที่แห่งนี้เป็นดินเหนียว  จึงทำให้ส้มโอแสงวิมานมีรสชาติที่หวานเข้ม และไม่ขม แตกต่างจากส้มโอจากพื้นที่อื่นๆ และมีรสชาติแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เช่นพันธุ์ทองดี มีรสชาติหวานเข้ม กุ้งมีสีแดงอมชมพู  พันธุ์ขาวพวง มีรสหวานอมเปรี้ยว นิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน พันธุ์ขาวแป้นมีรสหวาน กลมกล่อม ราคาถูก เป็นที่ต้องการของตลาดระดับล่าง

ปี พ.ศ. 2523 นายสมหวัง มัสแหละ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของบ้านแสงวิมาน ได้ทดลองนำพันธุ์ส้มโอจากจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ผลมีขนาดใหญ่ กุ้งสีแดงเข้ม แต่มีรสขม ชาวบ้านแถบนั้นไม่นิยมปลูก แต่เมื่อนำมาปลูกในช่วงแรกมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็ยังมีรสขมอีก ในช่วงนั้นใช้ชื่อพันธุ์ว่า “พันธุ์มรกต” เนื่องจากมีสีแดงเข้มกว่าพันธุ์อื่นๆ  ต่อจากนั้นเป็นต้นมา เริ่มมีการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น ตามความต้องการของท้องตลาด โดยการปรับปรุงทั้งเรื่องสายพันธุ์ และวิธีการดูแลรักษา ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

1.ด้านสายพันธุ์ เนื่องจากส้มโอเป็นไม้ผลยืนต้น การผสมข้ามต้น หรือข้ามสายพันธุ์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจะต้องนำเมล็ดที่ได้ไปปลูกซึ่งใช้เวลานาน ชาวบ้านแสงวิมานจึงใช้วิธีคัดเลือกจากต้นที่มีรสชาติดี ไม่ขม ทำการขยายพันธุ์โดยการตอน ทำแบบนี้อยู่หลายรุ่น จึงมีคุณภาพดีขึ้น

2.ด้านการดูแลรักษา ส่วนใหญ่เกษตรกรมักจะไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้ รอเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างเดียว จึงทำให้คุณภาพลดลงไปมาก แต่เกษตรกรบ้านแสงวิมาน เน้นในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยการจัดการเรื่องการให้น้ำและปุ๋ยตามความต้องการแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต 

จากการปรับปรุงคุณภาพดังกล่าวข้างต้น ทำให้ส้มโอพันธุ์นี้ มีรสชาติหวาน กรอบ เนื้อมีสีแดงเข้ม จึงเป็นที่รู้จัก และตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการปรับปรุงคุณภาพจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงตกลงกันว่าน่าจะมีการตั้งชื่อใหม่ คนส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “พันธุ์ทับทิมสยาม” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อพันธุ์หนึ่ง ของส้มโอแสงวิมาน

                                   ข้อมูล     นายอิมรอน  แสงวิมาน  083-1030831

                                           E-mail : imron165@hotmail.com

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 54,448 Today: 3 PageView/Month: 860

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...